fbpx

ภาวะก่อนเบาหวาน คืออะไร

ภาวะก่อนเบาหวาน คืออะไร

มีใครรู้ไหมครับ? ว่าในรายละเอียดโรคมากมายของโรคเบาหวานนอกจากเบาหวานประเภท 1 ประเภท 2 หรือประเภท 3,4 ยังมีอีกหนึ่งภาวะเกี่ยวกับเบาหวานที่หลายคนอาจจะไม่เคยรู้จักมาก่อนนั่นคือ ภาวะก่อนเบาหวาน (Prediabetes) ซึ่งภาวะสุขภาพที่เกิดจากระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ แต่ยังไม่สูงจนสามารถวินิจฉัยเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ซึ่งผู้ป่วยส่วนมากมักไม่ทราบว่าตนมีภาวะก่อนเบาหวาน จึงทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 และโรคหลอดเลือดหัวใจมากขึ้นหากไม่ได้รับการรักษา

สาเหตุ

ในปัจจุบันยังไม่สามารถสรุปได้แน่ชัดถึงสาเหตุของภาวะก่อนเบาหวาน แต่ประวัติครอบครัวและกรรมพันธุ์ รวมถึงการขาดการออกกำลังกาย ภาวะน้ำหนักเกิน และไขมันสะสม อาจเป็นส่วนสำคัญในการเร่งให้เกิดภาวะก่อนเบาหวานได้ โดยเชื่อว่าผู้ที่มีภาวะก่อนเบาหวานเกิดจากการจัดการกับน้ำตาลในร่างกายที่ผิดปกติไป
ปกติแล้วน้ำตาลที่อยู่ในเลือดมีหน้าที่ช่วยให้ร่างกายทำงานได้อย่างปกติ เป็นแหล่งพลังงานของกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อส่วนต่างๆ โดยแหล่งน้ำตาลส่วนมากมาจากการรับประทานอาหาร เมื่อร่างกายได้รับน้ำตาลจากอาหารเข้าสู่กระแสเลือด จะมีการหลั่งฮอร์โมนชนิดหนึ่งจากตับอ่อน ชื่อว่า อินซูลิน ซึ่งมีหน้าที่ในการดึงน้ำตาลจากเลือดไปให้เซลล์ต่างๆ ในร่างกายใช้งาน หากมีการทำงานที่ไม่สมดุลหรือผิดปกติไปก็อาจเป็นสาเหตุที่นำไปสู่ภาวะก่อนเบาหวาน และอาจพัฒนาไปเป็นโรคเบาหวานต่อไปได้

อาการ

  • กระหายน้ำมากขึ้น
  • ปัสสาวะบ่อย
  • หิวบ่อย
  • อ่อนเพลีย
  • มองภาพไม่ชัด

ปล. ภาวะก่อนเบาหวานส่วนใหญ่มักไม่แสดงอาการ

ปัจจัยเสี่ยง

  • ภาวะน้ำหนักตัวเกิน
  • ขาดการออกกำลังกาย
  • อายุ 45 ปี ขึ้นไป
  • มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคเบาหวาน
  • มีประวัติเป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ หรือเคยคลอดบุตรน้ำหนักตัวมากกว่า 4 กิโลกรัม
  • มีกลุ่มอาการถุงน้ำในรังไข่ (Polycystic ovarian syndrome)
  • สูบบุหรี่
  • เป็นโรคความดันโลหิตสูงหรือไขมันในเลือดสูง

ปล. ปัจจัยเสี่ยงของภาวะก่อนเบาหวานนั้นเหมือนกับปัจจัยเสี่ยงของโรคเบาหวาน

การวินิจฉัย

American Diabetes Association (ADA) แนะนำให้ตรวจคัดกรองโรคเบาหวานสำหรับผู้ใหญ่ เมื่ออายุ 45 ปี และแนะนำให้ตรวจคัดกรองโรคเบาหวานก่อนอายุ 45 ปี หากมีน้ำหนักเกิน และมีปัจจัยเสี่ยงเพิ่มเติมสำหรับภาวะก่อนเบาหวานหรือโรคเบาหวานชนิดที่ 2 การตรวจเลือดที่จำเป็นสำหรับภาวะก่อนเบาหวาน ได้แก่

Glycated hemoglobin (A1C or HbA1c),การทดสอบระดับน้ำตาลในเลือดโดยเฉลี่ย ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา โดยสามารถการอ่านผลการตรวจได้ ดังนี้

  • ต่ำกว่า 5.7%  = ปกติ
  • ระหว่าง 5.7% ถึง 6.4%  = เป็นภาวะก่อนเบาหวาน
  • 6.5% หรือสูงกว่า = เป็นโรคเบาหวาน

การตรวจน้ำตาลในเลือด
ก่อนตรวจต้องงดรับประทานอาหารและดื่มน้ำ เป็นเวลาอย่างน้อย 8 ชั่วโมง ค่าน้ำตาลในเลือดจะแสดงเป็นมิลลิกรัมของน้ำตาลต่อเดซิลิตร (มิลลิกรัม/เดซิลิตร) หรือมิลลิโมลของน้ำตาลต่อลิตร (มิลลิโมล/ลิตร) ของเลือด

  • น้อยกว่า 100 mg/dl (5.6 mmol/l) = ปกติ
  • 100 ถึง 125 mg/dl (5.6 ถึง 6.9 mmol/l) = เป็นภาวะก่อนเบาหวาน
  • 126 mg/dl (7.0 mmol/l) หรือสูงกว่า = เป็นโรคเบาหวาน

การรักษา
การปรับไลฟ์สไตล์และดำเนินชีวิตให้มีสุขภาพดีจะช่วยให้ระดับน้ำตาลในเลือดให้กลับมาเป็นปกติ หรือป้องกันไม่ให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงจนเป็นโรคเบาหวาน การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อป้องกันภาวะก่อนเบาหานไม่ให้กลายเป็นโรคเบาหวานสามารถทำได้ดังนี้

  • กินอาหารเพื่อสุขภาพ รับประทานอาหารประเภทผลไม้ ผัก ถั่ว ธัญพืชไม่ขัดสี น้ำมันมะกอก เลือกอาหารที่มีไขมันและแคลอรีต่ำ มีไฟเบอร์สูง
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เช่น การเดินอย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน 5 วันต่อสัปดาห์
  • ควบคุมน้ำหนัก ให้อยู่เกินปกติ
  • เลิกสูบบุหรี่
  • รักษาค่าความดันโลหิตและคอเลสเตอรอลไม่ให้สูงเกินมาตรฐาน
  • ใช้ยาเมทฟอร์มิน (กลูโคฟาจ) เพื่อลดน้ำตาลในเลือดหากมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคเบาหวาน ซึ่งควรปรึกษาแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญก่อนใช้

สรุป

ภาวะก่อนเบาหวานคือภาวะที่มีน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ คืออยู่ในช่วง 100 ถึง 125 mg/dl แต่ยังไม่ถึงขั้นที่ถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคเบาหวาน หากไม่ได้รับการรักษาจะนำไปสู่โรคเบาหวาน แต่หากได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี ก็จะสามารถหายขาดได้ โดยการรักษาจะเป็นการออกกำลังกายลดน้ำหนัก ปรับพฤติกรรมการกิน บางรายอาจจะมีการทานยาร่วมด้วย

สาเหตุการเกิดยังไม่แน่ชัด แต่จากข้อมูลที่กล่าวมาข้างต้นสามารถอนุมานได้ว่าหลักๆจะเกิดจากพฤติกรรมในชีวิตประจำวันอย่างการกินการออกกำลังกาย โดยมีพันธุกรรมเป็นตัวแปลสำคัญ หากในครอบครัวมีผู้มีประวัติป่วยเบาหวานอาจจะต้องเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงโรคเบาหวาน หรือผู้ที่ในครอบครัวไม่มีประวัติเป็นโรคเบาหวาน ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่เกิดภาวะก่อนเบาหวาน หรือโรคเบาหวาน ดังนั้นหันมาใส่ในสุขภาพและหมั่นออกกำลังเป็นประจำ ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะการป้องกันนั้นดีกว่าการแก้ไขในภายหลังแน่นอนครับ

Highlight


แบบทดสอบประเมินอื่นๆ

อีไลฟ์ได้ทำแบบประเมินสุขภาพอื่นๆ เพื่อประโยชน์ของท่านในการรู้ตัวเอง เปลี่ยนพฤติกรรม ออกกำลังการรักษาสุขภาพให้ดียิ่งๆขึ้น


บทความที่เกี่ยวข้อง