fbpx

รู้ทันโรคซึมเศร้า

รู้ทันโรคซึมเศร้า

 

“โรคซึมเศร้า” เมื่อก่อนผู้คนอาจจะไม่ได้ใส่ใจโรคนี้มากเท่าไร เพราะคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว และมองว่าเป็นโรคของคนที่มีอาการทางจิต แต่จริง ๆ แล้ว ภาวะซึมเศร้ามันใกล้ตัวยิ่งกว่าที่คิดโดยเฉพาะผู้คนในสังคมเมือง    แล้วสาเหตุมันเกิดจากอะไร ปัจจัยที่ทำให้เกิดขึ้น และใครที่มีภาวะเสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้ จะป้องกันหรือมีวิธีรักษาได้อย่างไร วันนี้เรามาทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคนี้ไปพร้อม ๆ กันนะคะ

ภาวะซึมเศร้า คือการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ชนิดหนึ่ง อาการหลัก ๆ คือจะรู้สึกเบื่อหน่ายหรือเศร้า หรือทั้งสองอย่างโดยอาจมีการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมการกิน การนอน เรี่ยวแรง สมาธิรวมถึงความรู้สึกที่มีต่อตัวเอง การเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ถ้าเป็นไม่มากอาจเข้าข่าย “ภาวะซึมเศร้า” แต่หากมีอาการมากและระยะเวลานานก็อาจพัฒนากลายเป็น “โรคซึมเศร้า” ซึ่งจะทำให้ไม่มีความสุขในชีวิต   ทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันได้ไม่ดีเหมือนเดิมและบางรายที่รู้สึกท้อแท้หรือหมดหวัง อาจส่งผลรุนแรงถึงขั้นไม่อยากมีชีวิตอยู่ต่อไป

ทำไม ? ถึงซึมเศร้า

สาเหตุของโรคซึมเศร้านั้น เชื่อกันว่าสัมพันธ์กับหลาย ๆ ปัจจัยทั้งจากด้านกรรมพันธุ์ การพลัดพรากจากพ่อแม่ในวัยเด็ก พัฒนาการของจิตใจ รวมถึงปัจจัยทางชีวภาพ เช่น การเปลี่ยนแปลงของระดับสารเคมีในสมองบางตัวเป็นต้น ปัจจัยสำคัญ ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคซึมเศร้าได้แก่

  • กรรมพันธุ์ พบว่ากรรมพันธุ์มีส่วนเกี่ยวข้องสูงในโรคซึมเศร้าโดยเฉพาะในกรณีของผู้ที่มีอาการเป็นซ้ำหลาย ๆ ครั้ง
  • สารเคมีในสมอง พบว่าระบบสารเคมีในสมองของผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามีการเปลี่ยนแปลงไปจากปกติอย่างชัดเจน โดยมีสารที่สำคัญได้แก่ ซีโรโทนิน (serotonin) และนอร์เอพิเนฟริน (norepinephrine) ลดต่ำลง รวมทั้งอาจมีความผิดปกติของเซลล์รับสื่อเคมีเหล่านี้ ปัจจุบันเชื่อว่าเป็นความบกพร่องในการควบคุมประสานงานร่วมกัน มากกว่าเป็นความผิดปกติที่ระบบใดระบบหนึ่ง ยาแก้ซึมเศร้าที่ใช้กันนั้นก็ออกฤทธิ์โดยการไปปรับสมดุลย์ของระบบสารเคมีเหล่านี้
  • ลักษณะนิสัย บางคนมีแนวคิดที่ทำให้ตนเองซึมเศร้า เช่น มองตนเองในแง่ลบ มองอดีตเห็นแต่ความบกพร่องของตนเอง หรือมองโลกในแง่ร้าย เป็นต้น บุคคลเหล่านี้เมื่อเผชิญกับสถานการณ์ที่กดดัน เช่น ตกงาน หย่าร้าง ถูกทอดทิ้งก็มีแนวโน้มที่จะเกิดอาการซึมเศร้าได้ง่าย ซึ่งหากไม่ได้รับการช่วยเหลือที่เหมาะสมอาการอาจมากจนกลายเป็นโรคซึมเศร้าได้

 

 

 

โรคซึมเศร้าที่เกิดขึ้นในผู้ชาย

ว่ากันว่าจำนวนของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่เป็นผู้ชายจะพบได้น้อยกว่าผู้หญิง แต่น่าแปลกที่อัตราการฆ่าตัวตายในผู้ชายมีมากกว่า ซึ่งเมื่อเพศชายป่วยเป็นโรคซึมเศร้าแล้ว โอกาสเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจก็มีสูงมาก ส่วนใหญ่มักใช้ยาเสพติดและเครื่องที่มีแอลกอฮอล์เป็นตัวช่วยแก้ปัญหาภาวะซึมเศร้านั้น

โรคซึมเศร้าที่เกิดขึ้นในผู้หญิง

ซึ่งในผู้หญิงนั้นเป็นโรคซึมเศร้าในจำนวนที่มากกว่าผู้ชายถึง 2 เท่า ซึ่งเชื่อว่าเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนอาทิ มีประจำเดือน , การตั้งครรภ์ , ภาวะหลังคลอด หรือการเข้าสู่วัยทอง อีกทั้งในชีวิตของพวกเขายังจะต้องรับผิดชอบในหลาย ๆ อย่าง ทั้งในบ้านและนอกบ้านทำให้เกิดความเครียด

 

โรคซึมเศร้าที่เกิดขึ้นในเด็ก

ไม่ใช่แค่วัยผู้ใหญ่เท่านั้นที่เสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้า แต่ในเด็กโอกาสที่จะเกิดโรคนี้ก็มีเช่นกัน อาการที่สังเกตเห็นได้ในเด็กเล็กอาทิ ไม่ไปโรงเรียน , แกล้งทำเป็นป่วย , ติดพ่อแม่ หรือเป็นกังวลกลัวว่าพ่อแม่จะเสียชีวิตส่วนในเด็กโตก็จะมีอาการเงียบ ไม่ยอมพูดยอมจา , มักมีปัญหาที่โรงเรียน , มองโลกในแง่ร้าย

 

 

โรคซึมเศร้าที่เกิดขึ้นในผู้สูงอายุ

แล้วการเข้าสู่วัยทองนั้นมักทำให้อารมณ์ผกผันไม่เป็นปกติ ซึ่งคนส่วนใหญ่เข้าใจว่าเป็นเรื่องธรรมดาของคนวัยนี้ แต่ในความเป็นจริงแล้วกลับไม่ใช่เสียทั้งหมด เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่จะแสดงอาการออกทางกายซะมาก  โดยตัวยาที่ใช้ก็จะมีผลข้างเคียงที่ทำให้เกิดอาการของโรคซึมเศร้าได้เช่นกัน หากส่งตัวเข้ารับการวินิจฉัยและรักษา ก็จะทำให้การใช้ชีวิตของผู้ป่วยในวัยนี้มีความสุขอย่างแน่นอน

วิธีรับมือ “โรคซึมเศร้า”

  1. หัดยอมรับตัวเอง ฝึกสำรวจตัวเอง เรียนรู้ รู้จักตัวเองมากขึ้นและฝึกยอมรับในสิ่งที่ตนเองเป็นทั้งข้อดีและข้อเสีย เพื่อที่จะช่วยให้คุณรับมือกับสถานการณ์ที่ทำให้ผิดหวังเสียใจได้ รู้จักขอบคุณตัวเอง และแสดงความภาคภูมิใจในตัวเองอยู่เสมอ เมื่อได้ลงมือทำในสิ่งที่ดี ชีวิตมีขึ้นมีลงแค่รับมือกับมันได้ตัวคุณก็จะเบาสบายขึ้น
  2. หัวเราะเยอะ ๆ เมื่อรู้สึกทุกข์ ควรพาตัวเองอยู่กับสิ่งที่ทำให้รู้สึกเพลิดเพลิน เช่น ดูภาพยนตร์ตลก หรืออ่านเรื่องขำขัน หรือพูดคุยกับเพื่อน ๆ ในเรื่องขบขันสนุกสนาน เพื่อช่วยคลายเครียด ช่วยคลายความทุกข์ในใจได้ดีทีเดียว
  3. ระบายความรู้สึก ควรเรียนรู้ที่จะหาวิธีปลดปล่อยความรู้สึกเศร้า โกรธ ผิดหวัง หรือเสียใจออกมา เพราะอาการซึมเศร้ามักเกิดจากการเก็บกดอารมณ์ความรู้สึกไว้ เราทำได้โดยการพูดคุยกับคนที่ไว้ใจได้ ตะโกนหรือร้องไห้ออกมาดังๆ หรือเขียนความรู้สึกลงในสมุดบันทึก
  4. ออกกำลังกาย เพราะการออกกำลังกายช่วยต้านโรคซึมเศร้าได้ เนื่องจากการออกกำลังกายช่วยเพิ่มระดับสารเคมีเซโรโทนินในสมอง รวมถึงเพิ่มการหลั่งสารเอนดอร์ฟีนที่ช่วยทำให้ผ่อนคลายและอารมณ์ดีขึ้น แถมยังช่วยให้สุขภาพด้านอื่น ๆ ดีขึ้นด้วย โดยการออกกำลังกายที่ดีต่อทั้งสุขภาพกายและใจนี้ หากการปรับพฤติกรรมการกินควบคู่ไปกับการออกกำลังกายเป็นประจำ ก็ยิ่งส่งผลดีต่อสุขภาพใจและ ป้องกันโรคซึมเศร้า ไม่ให้มากล้ำกรายคุณได้ ไม่ว่าจะเป็น การว่ายน้ำ การวิ่ง ยกน้ำหนัก หรือเล่นกีฬาที่ชอบ หรือเพียงแค่ขยับร่างกายด้วยการทำงานบ้านเป็นประจำก็ส่งผลดีกับสุขภาพกายและใจแล้ว ควรออกกำลังกายในแต่ละครั้งไม่ต่ำกว่า 30 นาที และในหนึ่งสัปดาห์มีเวลารวมในการออกกำลังกายไม่ต่ำกว่า 150 นาที อย่างไรก็ตามแค่เริ่มออกกำลังกายครั้งแรก คุณก็จะสัมผัสได้แล้วว่าอารมณ์จะค่อยๆ เปลี่ยนไปในทางดีขึ้น
  5. ทำงานอดิเรคหากมีเรื่องเครียด ๆ หรือเรื่องที่ทำให้เศร้าอยู่นาน ต้องพยายามสะบัดความรู้สึกเหล่านั้นออกไป แล้วไปหาอะไรทำที่สร้างสรรค์ ฝึกสมาธิ อย่างการทำงานอดิเรกก็ช่วยได้ เช่น ปลูกต้นไม้ วาดรูป ระบายสี ทำอาหาร เย็บปักถักร้อย เป็นต้น
  6. ให้ความสำคัญกับการพักผ่อนมากขึ้น แนะนำให้เริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวันบางอย่าง ลดปริมาณการดื่มกาแฟให้น้อยลง กำหนดเวลาการเข้านอนไม่ให้ดึกจนเกินไปในแต่ละวัน และตั้งนาฬิกาปลุกให้ตื่นในตอนเช้าในเวลาเดียวกันทุกเช้าให้ได้ หากคุณมีปัญหานอนไม่หลับ และนอนไม่หลับเกิน 20 นาที ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องข่มตาให้นอนหลับ ซึ่งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้ลุกขึ้นมาทำกิจกรรมเบาๆ ที่สามารถทำได้โดยเปิดไฟสลัวๆ จนกระทั่งร่างกายคุณง่วงและนอนหลับไปเองจะดีที่สุด
  7. ระบายออกบ้าง ขอความช่วยเหลือบ้าง แม้ว่าเราจะถูกบอกเสมอว่า ต้องเข้มแข็ง ต้องอดทน แต่นั่นก็ไม่ใช่คำแนะนำสุดท้ายที่ต้องเชื่อถ้าคุณรู้สึกไม่ไหวแล้ว ฉันไม่อยากสู้แล้ว จงเชื่อในเสียงที่ออกมาจากใจตัวเอง ปล่อยวางเรื่องหนักๆ แล้วหาคนข้างกายที่คุณรัก ไว้ใจได้ ไม่ว่าจะเป็นคนในครอบครัว หรือเพื่อน เพื่อระบายความรู้สึกอัดอั้นนั้น หรือแม้กระทั่งเพื่อขอความช่วยเหลือจากเขาเหล่านั้น ทั้งในรูปแบบของการแนะนำ การเป็นที่ปรึกษา ไปจนถึงการเป็นเพื่อนพาไปหาผู้เชี่ยวชาญหรือจิตแพทย์ที่จะช่วยทำให้คุณสบายใจขึ้น
  8. ออกไปที่ยว การเดินทางท่องเที่ยวถือเป็น “ยาดี” สำหรับคนที่มีภาวะซึมเศร้า เพราะเป็นการหนีห่างจากสิ่งแวดล้อมเดิม ๆ ที่ทำให้รู้สึกเหนื่อยหน่าย เศร้า เบื่อ ฯลฯ เปลี่ยนไปสู่สิ่งแวดล้อมใหม่ ๆ ที่สดใสทำให้มีพลังมากขึ้น ได้พบเห็นสิ่งใหม่ ๆ วัฒนธรรมใหม่ ๆ ผู้คนใหม่ ๆ สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ผ่อนคลายความเครียด และคลายความเศร้าได้ดีเช่นกัน สำหรับผู้สูงอายุที่อาจจะเดินทางไม่คล่องตัวสามารถใช้ตัวช่วยอย่างรถเข็นไฟฟ้าที่น้ำหนักไม่มากในการเดินทางไปด้วยได้ >> อย่างรุ่น Lite1 หรือรุ่น PW301Plus

 

โรคซึมเศร้านั้นไม่ได้มีสาเหตุมาจากปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งเท่านั้น เหมือนกับการป่วยเป็นไข้หวัดก็มักเกิดจากร่างกายอ่อนแอ พักผ่อนน้อย ไม่ได้ออกกำลังกาย ขาดสารอาหาร ถูกฝน อากาศเย็น ร่วมกับการได้รับเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดไข้หวัด ถ้าเราแข็งแรงดีแม้จะได้รับเชื้อหวัดก็ไม่เป็นอะไร ในทำนองเดียวกันถ้าร่างกายเราอ่อนแอ แต่ไม่ได้รับเชื้อหวัดก็ไม่เกิดอาการ  ซึ่งการเริ่มเกิดอาการของโรคซึมเศร้านั้นมักมีปัจจัยกระตุ้นมากบ้างน้อยบ้าง อย่างไรก็ตามการมีสาเหตุที่เห็นชัดว่ามาจากความกดดันด้านจิตใจนี้ ไม่ได้หมายความว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเรื่องปกติธรรมดาของคนเราไม่ว่าจะรุนแรงแค่ไหน การพิจารณาว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนั้นผิดปกติหรือไม่ เราดูจากการมีอาการต่าง ๆ และความรุนแรงของอาการเป็นหลัก ผู้ที่มีอาการเข้ากับเกณฑ์การวินิจฉัยโรคซึมเศร้านั้น บ่งถึงภาวะของความผิดปกติที่จำต้องได้รับการช่วยเหลือ

 

ถ้าคนใกล้หรือคนในครอบครัวเกิดเป็นโรคซึมเศร้าขึ้นมา สิ่งที่จะทำได้อันดับต้น ๆ คือความเข้าใจและคอยพูดคุย ให้คำปรึกษา พาไปทำกิจกรรมต่าง ๆ และพึงระลึกไว้ว่า “มันเป็นส่วนหนึ่งของอาการของโรค และจะหายไปเมื่ออาการของโรคดีขึ้น”