fbpx

ขับขี่ปลอดภัย เมื่อวัยสูงขึ้น

ขับขี่ปลอดภัย เมื่อวัยสูงขึ้น

การขับรถเป็นการแสดงออกอย่างหนึ่งของความเป็นอิสระ  การพึ่งพาตนเองได้  ผู้สูงอายุไทยจำนวนไม่น้อยที่ยังขับรถแม้อายุมากกว่า 60 ปี  ถึงแม้ไม่มากเท่าฝรั่ง  เพราะผู้สูงอายุที่เป็นฝรั่งมักไม่ได้อยู่กับลูกหลาน  จึงยังต้องช่วยเหลือตัวเองเท่าที่ทำได้  ต้องไปซื้อของเอง ไปธนาคารเอง  ไปนัดสังสรรค์ก็บ่อย  อย่างไรก็ตามในอนาคตข้างหน้าจะมีผู้สูงอายุไทยที่ขับรถมากขึ้น เพราะคนเราอายุยืนขึ้น  แถมปัจจุบัน หนุ่ม ๆ สาว ๆ ก็ขับรถกันมากขึ้น คิดง่าย ๆ นะครับว่าถ้าตอนนี้เรายังขับรถ  พอเราอายุเกิน 60 ปี เราจะเลิกขับหรือเปล่า   ในปัจจุบันนี้ยังไม่ได้มีความตื่นตัวมากนักในด้านระบบการประเมินความพร้อมของผู้สูงอายุที่ยังขับรถอยู่  ทั้งที่อุบัติเหตุทางการจราจรเป็นสาเหตุของการบาดเจ็บพิการ และเสียชีวิตที่สำคัญในประเทศและผู้สูงอายุก็เป็นกลุ่มเสี่ยงที่สำคัญเนื่องจากสุขภาพร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไป

การเกิดอุบัติเหตุจากการขับรถ
โดยส่วนใหญ่แล้วผู้สูงอายุมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุจากการขับรถน้อยกว่าคนหนุ่ม  ๆ สาว ๆ ครับ  สาเหตุก็เพราะว่าผู้สูงอายุมักจะขับรถช้ากว่า ประสบการณ์การขับรถก็ยาวนานกว่า  มักคาดเข็มขัดนิรภัย  และมักไม่ดื่มแอลกอฮอล์ก่อนขับรถ แต่ถ้ายิ่งผู้สูงอายุคนไหนขับรถยิ่งเร็วขึ้น ๆ โอกาสการเกิดอุบัติเหตุยิ่งเพิ่มมากขึ้นกว่าคนหนุ่มสาวครับ โดยส่วนใหญ่  ถ้าอายุเกิน 70 ปี โอกาสเกิดอุบัติเหตุเพิ่มมากขึ้นและยิ่งเพิ่มขึ้นอย่างมากถ้าอายุเกิน 80 ปี  และถ้าเมื่อไหร่เกิดอุบัติเหตุขึ้น ผู้สูงอายุมีแนวโน้มเกิดอุบัติเหตุที่รุนแรง ได้รับอันตรายมากกว่าและโอกาสถึงแก่ชีวิตสูงกว่าคนหนุ่มสาวถึง 9 เท่าครับ

ส่วนของร่างกายที่ใช้ในการขับรถ

การขับรถต้องอาศัยกระบวนการทางร่างกายเหล่านี้ประกอบกัน คือ

  1. สมองแจ่มใส ไม่ขุ่นมัว
  2. สมาธิและความตั้งใจดี
  3. การตัดสินใจที่ว่องไว และแม่นยำ
  4. ความปราดเปรียว แคล่วคล่อง ว่องไว เมื่อเกิดเหตุการณ์คับขัน
  5. การประสานงานของส่วนต่าง ๆ ของร่างกายอย่างดี เช่น ระหว่างมือ แขน ขา คอ เป็นต้น
  6. กำลังกล้ามเนื้อที่เพียงพอ
  7. การขยับส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้ดีเช่น แขน ข้อไหล่ ลำคอ เป็นต้น
  8. การมองเห็นและการได้ยินที่ดี

* ถ้าเรามีความผิดปกติในด้านใดด้านหนึ่ง จะทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย

ทำไมผู้สูงอายุถึงมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุจากการขับขี่รถยนต์ได้ง่าย

ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของการเกิดอุบัติเหตุจากการขับรถในผู้สูงอายุ คือ

  • อายุมากกว่า85 ปี
  • มีปัญหาด้านการมองเห็น
  • มีภาวะสมองเสื่อม

ผู้สูงอายุมีภาวะต่าง  ๆ ที่เกิดจากความเสื่อมสภาพของร่างกาย คือ กำลังกล้ามเนื้อลดลง ความว่องไวในการตอบสนองต่อเหตุการณ์คับขันช้าลง การทำงานระหว่างอวัยวะต่าง  ๆ ให้ประสานกันได้ไม่ดี และสมาธิลดลงด้วย นอกจากนั้นยังอ่อนล้าง่ายถ้าต้องขับรถนาน  ๆ

โรคต่าง ๆที่เกิดขึ้นในผู้สูงอายุก็มีส่วนในการทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย ขอยกตัวอย่างโรคเด่น ๆ ที่มีผลกระทบชัดเจนดังนี้

  • โรคตาชนิดต่าง ๆ เช่น ต้อหิน ต้อกระจก จอประสาทตาเสื่อม ทำให้ขับรถในเวลาโพล้เพล้หรือตอนกลางคืนแล้วมองไม่ชัดในผู้ป่วยต้อหินยังอาจมีลานสายตาที่แคบทำให้มองเห็นภาพส่วนรอบได้ไม่ดี  ผู้ป่วยโรคต้อหินจะมองเห็นแสงไฟบอกทาง ไฟหน้ารถพร่าได้
  • โรคสมองเสื่อม ในที่นี้หมายถึงเพิ่งเป็นไม่มากนะครับ เพราะถ้าเป็นมากแล้วคงไม่มีใครยอมให้ขับรถแล้ว ผู้ที่สมองเสื่อม มีอาการหลงลืม ขับรถหลงทาง เลี้ยวผิดเลี้ยวถูก การตัดสินใจและสมาธิไม่ดี
  • โรคอัมพฤกษ์ จากโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งเป็นโรคที่พบได้พอสมควรในผู้สูงอายุ ทำให้แขนขาไม่มีแรงที่จะขับรถ เหยียบคันเร่ง เหยียบเบรกหรือเปลี่ยนเกียร์ได้ดีบางคนมีอาการเกร็งมากจนขากระตุกเวลาเหยียบคันเร่งหรือเบรก บางคนมีการประสานงานระหว่างแขน ขาไม่ดี หรือสมองสั่งให้แขนขา ทำงานไม่ได้ดีเหมือนเดิม ความไวของการตอบสนองต่อเหตุการณ์ต่าง ๆ ลดลง
  • โรคพาร์กินสัน มีอาการแข็งเกร็งมือสั่น บางทีมีเท้าสั่นด้วย ทำอะไรเชื่องช้าลง  ทำให้ขับรถได้ไม่ดี
  • โรคลมชัก ซึ่งพบได้ในผู้สูงอายุมากกว่าคนหนุ่มสาว เมื่อมีอาการชัก จะเกร็ง กระตุก ไม่รู้สึกตัว ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้
  • โรคข้อเสื่อม ข้ออักเสบต่าง ๆ ที่มีผลกระทบต่อการขับรถเช่น ข้อเข่าเสื่อม ทำให้เหยียบเบรกได้ไม่เต็มที่ ข้อเท้าอักเสบ ปวด จากโรคเก๊าท์ ทำให้ขยับลำบาก โรคกระดูกคอเสื่อม ทำให้ปวดคอ เอี้ยวคอดูการจราจรได้ลำบาก หรือมีอาการปวดหลัง จากกระดูกหลังเสื่อม ทำให้นั่งขับรถได้ไม่นาน
  • โรคอื่น ๆ เช่น โรคหัวใจ ทำให้อาจมีอาการแน่นหน้าอกเมื่อขับรถนาน ๆ เครียดจากรถติด โรคเบาหวาน ทำให้มีอาการหน้ามืด ใจสั่น สมาธิไม่ดี ตาพร่า ถ้าน้ำตาลในเลือดต่ำลง
  • ยาผู้สูงอายุส่วนใหญ่ต้องรับประทานยา  บางคนรับประทานหลายชนิด บางชนิดมีผลทำให้ง่วงซึม เช่น ยาแก้เวียนศีรษะ ยาลดน้ำมูก ยานอนหลับ ยาคลายกล้ามเนื้อ เป็นต้น ทำให้ง่วงนอน มึนงง สับสนได้เวลาขับรถ  และทำให้การตัดสินใจ สมาธิ และความรวดเร็วในการตอบสนองต่อเหตุการณ์ฉุกเฉิน ไม่ดี ควรทำอย่างไรถ้ายังต้องการขับรถเมื่ออายุมากแล้ว

ถ้ามีโรคประจำตัว  ควรปรึกษาแพทย์ผู้รักษาก่อนว่าสามารถที่จะขับรถได้หรือไม่  ในบ้านเรายังไม่มีผู้ชำนาญการและระบบในการประเมินความปลอดภัยของผู้ขับขี่ที่สูงอายุ  แพทย์จะประเมินการมองเห็น  กำลังกล้ามเนื้อ  การทำงานประสานกันของแขนขา  การเกร็ง สั่นของกล้ามเนื้อ ความสามารถของสมอง และประเมินกระดูกและข้อต่อ  ซักประวัติการรับประทานยาชนิดต่าง ๆ และประเมินโรคประจำตัวที่เป็นอยู่ เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคลมชัก ภาวะสมองเสื่อม โรคข้อเสื่อม เป็นต้น ว่าเหมาะสมกับการขับรถหรือไม่

 

วิธีปฏิบัติตัวให้ปลอดภัยเมื่อต้องขับขี่รถ

  1. ปรึกษาแพทย์เพื่อประเมินความพร้อมของร่างกายในการขับขี่รถที่สำคัญคือ การมองเห็น กำลังกล้ามเนื้อ ความสามารถของสมอง และกระดูกและข้อต่อ
  2. ควรตรวจสอบสภาพรถเป็นระยะเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเครื่องยนต์ขัดข้องฉุกเฉิน
  3. ไม่ดื่มแอลกอฮอล์เมื่อจะขับรถตลอดจนหลีกเลี่ยงยาต่าง ๆ ที่อาจทำให้เกิดอาการง่วงซึม  มึนงง เมื่อต้องขับรถ
  4. หลีกเลี่ยงการขับรถในเส้นทางที่ไม่คุ้นเคย อย่าขับเร็ว
  5. หลีกเลี่ยงการขับรถในช่วงกลางคืน
  6. หลีกเลี่ยงการขับรถในสภาพอากาศที่ไม่เหมาะสม เช่น ฝนตกหนัก เป็นต้น เนื่องจากทำให้มองเห็นเส้นทางไม่ดี
  7. คาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้งที่ขับรถ
  8. ถ้าเป็นไปได้ควรมีคนนั่งรถไปด้วยเพื่อช่วยกันดูเส้นทาง  สัญญาณไฟจราจรและดูรถ
  9. ไม่ควรขับรถทางไกลหรือไปในที่รถติดซึ่งต้องใช้เวลาในการขับขี่เป็นเวลานาน มีเบอร์โทรศัพท์ที่จำเป็นติดตัวเสมอ เพื่อป้องกันเหตุฉุกเฉิน เช่น เบอร์โรงพยาบาล เบอร์ศูนย์รถยนต์ หรือเบอร์ช่วยเหลือฉุกเฉินต่างๆที่จำเป็น

ข้อมูลจาก

รศ.นพ.วีรศักดิ์ เมืองไพศาล
ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันละสังคม
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

ขอบคุณรูปจาก http://www.mqdc.com/