fbpx

โรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุ

โรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุ

โรคซึมเศร้าในปัจจุบันนั้นดูจะเป็นเรื่องของกลุ่มวัยหนุ่มสาว วัยทำงาน หรือเด็กๆวัยรุ่นส่วนใหญ่ และโรคนี้ทำให้ให้ประชากรป่วยเพิ่มอย่างมากมากขึ้นและขยายวงกว้างในช่วงอายุเลื่อยๆจนนำมาถึง โรคซึมเศร้าในผู้สุงอายุ (Late-life depression) เป็นโรคซึมเศร้าที่เกิดขึ้นในผู้สูงอายุช่วง 60 ขึ้นไป แบ่งเป็น 2 แบบ คือ อาการซึมเศร้าที่เป็นมาก่อนเข้าสู่วัยสูงอายุ และที่เกิดในช่วงที่เข้าสู่วัยสูงอายุแล้ว รองคณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ว่า มีงานวิจัยเมื่อปี 2552 ของวลัยพร นันท์ศุภวัฒน์ และคณะ ที่บ่งชี้ว่าผู้สูงอายุร้อยละ 72.3 มีภาวะซึมเศร้า และร้อยละ 15.6  มีภาวะโรคซึมเศร้า ด้วยภาวะแห่งสังคมสูงวัยในปัจจุบัน

“พูดง่ายๆ คือ 3 ใน 4 คนมีความพร้อมที่จะจุดชนวนเข้าสู่ภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุเมื่อรู้สึกแย่ ถ้าปล่อยทิ้งไว้ อาจทำให้เขาเกิด Crisis หรือตัดสินใจว่าตัวเองไม่อยากเป็นภาระผู้อื่น เพราะผู้สูงอายุเป็นกลุ่มเปราะบางจริง” อาจารย์อรัญญากล่าว

สาเหตุของโรคซึมเศร้า

ภาวะซึมเศร้าอาจเกิดจากโรคทางจิตเวช เช่น โรค Major depressive disorder , โรค Bipolar disorder ซึ่งเกิดจากความผิดปกติของสารสื่อประสาทในสมองเป็นหลัก คนไข้กลุ่มนี้ควรปรึกษาหมอจิตเวช เพราะอาจมีอาการจิตเวชอื่นๆ แทรกซ้อน ส่วนภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุที่ไม่ได้เป็นโรคทางจิตเวชโดยตรงนั้น มักจะมีสาเหตุจากปัจจัยกระตุ้นทั้งทางกาย จิต และสังคม

ปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าในคนวัยต่างๆ

อาจารย์อรัญญา ระบุว่า ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุมีทั้งปัจจัยภายในและภายนอกขึ้นอยู่กับว่าตัวแปรใดจะมีผลมากกว่ากัน เราเรียกอาการนี้ว่าโรคซึมเศร้าที่เกิดจากรอยต่อระหว่างวัย

  • ปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าในวัยเบญจเพส

มีความหุนหันพลันแล่น ไฟแรงมาก มีความหวังสูง พอทำอะไรผิดพลาดก็จะเกิดอาการผิดหวังกลายเป็นซึมเศร้า

  • ปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าในวัย 35-40

เป็นวัยสร้างครอบครัว เสมือนเบญจเพสรอบ 2 มีการเปรียบเทียบตนเองกับผู้อื่นว่าทำไมเขาบ้านใหญ่กว่า ฐานะดีกว่า เราเรียกว่า Midlife Crisis ขณะที่รอยต่อที่สามคือสูงวัย รู้สึกว่าตัวเองทำอะไรไม่ได้เหมือนแต่ก่อน ถ้าก้าวไม่ข้าม ไม่เตรียมใจไว้ จะเกิดวิกฤติ”

  • ปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าในสูงอายุ

ซึ่งเป็นวัยที่กำลังหมด หมดไฟ หมดแรง มีความเสื่อมถอย ของสุขภาพ มีโรคประจำตัว การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุได้

  • ปัจจัยภายในร่างกายกาย

ซึ่งมีบทความจากโรงบาลสมิติเวช ที่กล่าวว่า ” ผู้ป่วยที่เป็นโรคเรื้อรัง เช่น  เบาหวาน ไขมันในเลือด ความดัน หรือโรคหลอดเลือดหัวใจ หรือสมอง โรคไตวายเรื้อรัง จะกระตุ้นให้มีภาวะซึมเศร้าได้มากขึ้น ผู้ป่วยโรครุนแรง เช่น โรคมะเร็ง หรือโรคที่ทำให้ทุพพลภาพหรือพิการ หรือมีอาการปวดเรื้อรังที่ควบคุมได้ไม่ดี ผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม หรือโรคพากินสัน มีภาวะเนื้อสมองฝ่อตายก่อนเวลาอันควร ส่งผลกระทบต่อการควบคุมอารมณ์ของคนไข้ อาจมี อาการเชื่องช้ากว่าปกติ ไม่ค่อยมีพลังงาน ไม่อยากสนใจอะไร พูดช้าๆ คิดช้า ความจำแย่ลง ผู้สูงอายุกลุ่มนี้จะมีภาวะทางกายคล้ายโรคซึมเศร้า ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์มากหรือรับประทานยาบางชนิด ผู้ที่มีภาวะขาดฮอร์โมนไทรอยด์ หรือวิตามิน B12, Folate ”

อาการทางใจของโรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุ

ภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุ ก็มีทั้งความเหมือนและความต่างกับในวัยหนุ่มสาว สิ่งที่เหมือนกันคือพฤติกรรม ความคิด อารมณ์ มีการเปลี่ยนแปลง มีความสะเทือนใจง่าย และมีความรู้สึกไม่อยากมีชีวิตอยู่ ไม่รู้จะอยู่ไปทำไม ฉุดให้เกิดการทำร้ายตัวเอง ภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุอาจเป็นเพียงเรื่องปวดหัวเล็กน้อยของคนรอบข้างหรือคนในครอบครัว ไปจนกระทั่งรุนแรงถึงขั้นทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ ผู้เป็นโรคซึมเศร้ามักไม่สนใจตัวเอง กินน้อยหรือไม่กินเลย เบื่อหน่ายการใช้ชีวิต ไม่นอน ไม่ออกกำลังกาย ไม่ทำกิจกรรม ไม่รับประทานยาตามสั่ง ทำให้ภาวะโภชนาการและความแข็งแรงของร่างกายลดลง โรคประจำตัวอื่นๆจะควบคุมได้ยากขึ้น หากไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่สภาพอารมณ์ของผู้สูงวัยอาจแย่ลงต่อเนื่องไปนานจนทำให้เกิดโรคสมองเสื่อมได้ หรืออาจกลายเป็นภาวะซึมเศร้าขั้นรุนแรงจนผู้ป่วยเลือกที่จะจบชีวิตตัวเอง ซึ่งแม้ว่าการฆ่าตัวตายของผู้สูงอายุไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย แต่เมื่อตัดสินใจทำแล้ว มักจะเลือกวิธีการที่รุนแรงและทำสำเร็จเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นหากผู้สูงวัยมีอาการเบื้องต้นที่เข้าข่ายภาวะซึมเศร้า ผู้ใกล้ชิดควรรีบพามาพบแพทย์ เพื่อรับการรักษาให้ทันท่วงที

แนวทางการรักษาภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุ

เนื่องจากสาเหตุการเกิดภาวะซึมเศร้านั้นเกิดจากหลายปัจจัยร่วมกัน ถ้าสาเหตุมาจากภาวะทางจิตเวชโดยตรง ต้องปรึกษาแพทย์ทางจิตเวชในการดูแลรักษา โดยการใช้ทางยาจิตเวชในการควบคุมเป็นหลัก แต่หากเกิดจากการเปลี่ยนแปลงด้านร่างกายและจิตใจ สังคม สภาพแวดล้อม ประสบการณ์การสูญเสีย การรักษานั้นอาจให้เข้าพบจิตแพทย์เพื่อพูดคุยให้คำปรึกษา บำบัดจิต ปรับวิธีคิด และปรับทัศนคติทางลบให้ดีขึ้น จะช่วยเปลี่ยนมุมมอง และเปิดใจยอมรับสิ่งใหม่เข้ามามากขึ้น รวมทั้งอาศัยการปรับตัวของลูกหลาน คนในครอบครัว คนรอบข้าง ให้ความเข้าใจและเอาใส่ใจดูแลผู้สูงอายุมากขึ้น ไม่ทิ้งผู้สูงอายุไว้ตามลำพัง ควรมีคนคอยดูแลอยู่เสมอ ในรายที่มีอาการรุนแรงมาก เช่น น้ำหนักลดลง นอนไม่หลับ เริ่มมีความคิดอยากฆ่าตัวตาย แพทย์อาจพิจารณารักษาโดยใช้ยาร่วมด้วย โดยเริ่มใช้ยาต้านเศร้าในระดับอ่อนๆ ก่อน และมาพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ

วิธีปฏิบัติต่อผู้สูงอายุที่มีภาวะซึมเศร้า

ภาวะซึมเศร้าเป็นโรคที่สามารถเกิดได้ทุกเพศทุกวัยแต่ยิ่งเมื่อมีอายุมากขึ้นภาวะซึมเศร้านี้อาจจะเกิดขึ้นได้ง่ายกับผู้สูงอายุ ลูกหลานควรจะให้ความดูแลเอาใจใส่มากขึ้น ดังนี้

  1. ให้ความเอาใจใส่ ดูแล และเข้าใจความรู้สึกของผู้ป่วย โดยการคุยกันและฟังกันให้มากขึ้น
  2. อย่าทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกว่าเขาเป็นผู้ที่ทำให้คุณต้องแบกภาระเหนื่อยยากในการดูแล
  3. ดูแลช่วยเหลือผู้สูงอายุ แก้ไขไปตามอาการที่พบ เช่น อาการเบื่ออาหาร ผู้ดูแลควรปรับเปลี่ยนเมนูอาหารให้น่ารับประทานขึ้น โดยเลือกเมนูอาหารอ่อนๆ ย่อยง่ายและไม่กระทบต่อโรคประจำตัวของผู้สูงอายุ อาการนอนไม่หลับ อาจชวนทำกิจกรรมเบาๆ เช่น ฟังเพลง อ่านหนังสือ หรือฟังธรรมมะ เป็นต้น
  4. หากิจกรรมให้ผู้สูงอายุทำ เป็นสิ่งที่ทำแล้วเพลิดเพลิน สิ่งที่ท่านชอบและสนใจที่จะทำ หมั่นทำกิจกรรมร่วมกัน เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ในครอบครัว กระตุ้นในผู้สูงอายุรู้สึกว่าตนเองเป็นที่ปรึกษาของบุคคลในครอบครัวได้
  5. ชวนสวดมนต์ ปฏิบัติธรรม ฝึกสมาธิ ปรับเปลี่ยนบรรยากาศให้ผู้สูงอายุรู้สึกสดชื่น หลีกเลี่ยงเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดความกระทบกระเทือนใจ

ภาวะซึมเศร้ามีโอกาสเกิดขึ้นกับกลุ่มผู้สูงอายุมากกว่ากลุ่มคนวัยอื่น เมื่อรักษาอาการซึมเศร้าหายแล้ว ผู้ป่วยอาจกลับมาเป็นอีกได้ ซึ่งอัตรากลับมาเป็นใหม่ของโรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุนั้นมีมากพอสมควร หากญาติหรือผู้ดูแล สามารถควบคุมปัจจัยกระตุ้นได้ คนไข้ก็จะไม่มีอาการกำเริบมากนัก หากมีอาการพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด ควรไปปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุและรับการรักษาที่เหมาะสมต่อไป