fbpx

ฝุ่น PM 2.5 กับผู้สูงอายุ

ฝุ่น PM 2.5 กับผู้สูงอายุ

ฝุ่นละอองในอากาศเป็นปัญหาที่พบมากขึ้นทั่วโลก และกำลังเป็นปัญหาที่สำคัญสำหรับประเทศไทย โดยพบค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เรียกว่า PM 2.5 เกินค่ามาตรฐานทั้งในกรุงเทพ ปริมณฑล และอีกหลายจังหวัดในประเทศไทย PM ย่อมาจาก Particulate Matter ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในมลพิษที่ลอยในอากาศ (airborne particulate matter pollution) โดยปกติมลพิษประกอบไปด้วยสารหลายชนิดทั้ง ฝุ่นมลพิษ PM 2.5, ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ส่วน 2.5 มาจากขนาดของฝุ่นมลพิษ PM ที่เล็กเท่ากับขนาด 2.5 ไมครอน โดยรวมจึงเรียกว่า PM 2.5

ยิ่งละอองฝุ่นมีขนาดเล็กลงเท่าใด ก็ยิ่งเป็นอันตรายคุกคามต่อสุขภาพเท่านั้น  เนื่องจากมันสามารถถูกสูดหายใจเข้าไป และมีขนาดเล็กพอที่จะเข้าไปลึกถึงปอดและทางเดินหายใจได้ – บางอนุภาคอาจจะเข้าไปถึงกระแสเลือดและไหลเวียนทั่วร่างกายของเราได้ในที่สุด

ผลกระทบจากฝุ่น PM 2.5  

  • สะสมตามหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดแข็งตัวหรือตีบตัน หากเป็นหลอดเลือดที่สมอง ทำให้มีโอกาสเป็นอัมพฤกษ์อัมพาตได้ หากสะสมที่หลอดเลือดหัวใจก็ทำให้มีโอกาสเป็นโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ หัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือหัวใจวายเฉียบพลัน
  • สะสมในปอด ผู้สูงอายุที่มีโรคปอดเรื้อรังอยู่แล้ว เช่น โรคถุงลมโป่งพอง โรคหอบหืด ฝุ่นจิ๋วสามารถทำให้โรคกำเริบเฉียบพลันได้ นอกจากนั้นยังเพิ่มโอกาสเกิดมะเร็งปอด หากได้รับฝุ่นจิ๋วปริมาณมากและนาน 
  • สะสมในสมอง ทำให้เกิดการหลั่งสารอักเสบชนิดต่าง ๆ ส่งผลให้เซลล์สมองได้รับบาดเจ็บและเกิดภาวะสมองเสื่อมเร็วกว่าปกติ
  • ทำลายโปรตีนที่ผิวหนังที่ชื่อ Filaggrin ซึ่งมีหน้าที่เป็นโปรตีนที่ช่วยป้องกันผิวหนัง และเพิ่มการหลั่งสารกระตุ้นการอักเสบที่ผิวหนัง ดังนั้นเมื่อผิวหนังสัมผัสกับฝุ่นละออง PM 2.5 ก็จะเกิดการอักเสบ ระคายเคืองที่ผิวหนังได้ อีกทั้งฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 สามารถจับตัวกับสารเคมีและโลหะต่าง ๆ และนำพาเข้าสู่ผิวหนัง มีผลทำร้ายเซลล์ผิวหนัง และ กระตุ้นให้เกิดกระบวนการอักเสบของเซลล์ผิวหนัง ทำให้เกิดผื่นคันที่ผิวหนัง โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีโรคผิวหนังเดิมอยู่แล้ว เช่น โรคภูมิแพ้ผิวหนัง ผื่นผิวหนังอักเสบ สะเก็ดเงิน สิว ผมร่วง จะทำให้มีการระคางเคือง คันมากขึ้น ผื่นกำเริบมากขึ้นได้
  • อันตรายคุกคามต่อหัวใจ การเผชิญกับมลพิษในอากาศอาจทำให้เกิดเหตุรุนแรงเฉียบพลันกับกล้ามเนื้อหัวใจได้ รวมทั้งหัวใจวาย หัวใจเต้นผิดจังหวะ อัตราการผันแปรการเต้นของหัวใจลดลง ตลอดจนมีความเสี่ยงที่จะเกิดการตายจากภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน นอกจากนั้น ยังมีหลักฐานปรากฏด้วยว่า ภาวะหลอดเลือดแข็ง โดยที่มีการสะสมตะกอนที่เรียกว่าพลาคภายในหลอดเลือดซึ่งสามารถทำให้เกิดภาวะหัวใจวายและหลอดเลือดสมองตีบจนถึงตายได้

 

ใครอยู่ในกลุ่มที่มีภาวะความเสี่ยงสูง?

  • เด็กอยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงด้วยเหตุหลายประการ – ส่วนใหญ่แล้วเด็กมักใช้เวลาอยู่กลางแจ้งเพื่อเล่นกีฬาและทำกิจกรรมนอกบ้าน ยิ่งอายุน้อยเท่าใด ความเสี่ยงยิ่งมากขึ้นเท่านั้น ปอดและระบบภูมิคุ้มกันของเด็กยังอยู่ในระยะที่กำลังพัฒนา การเผชิญกับมลพิษในอากาศจะขัดขวางการเจริญเติบโตของปอดในเด็กในวัยเรียน นอกจากนั้น เด็กยังมีอัตราที่จะเป็นโรคหอบหืดและโรคระบบทางเดินหายใจที่รุนแรงอื่นๆ มากกว่า ซึ่งโรคเหล่านี้กำเริบขึ้นได้อย่างง่ายดายเมื่อระดับมลพิษสูง
  • หญิงมีครรภ์  การเผชิญกับมลพิษในอากาศจากฝุ่นละอองในระดับสูงระหว่างตั้งครรภ์มีความเชื่อมโยงกันกับการคลอดก่อนกำหนด น้ำหนักตัวทารกแรกคลอดต่ำ และความเสี่ยงที่จะเกิดการแท้งบุตรและอัตราการตายของทารกเพิ่มขึ้น
  • ผู้สูงวัย ต้องเผชิญกับความเสี่ยงเพิ่มขึ้นที่จะมีปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับมลพิษ ทั้งนี้เพราะระบบภูมิคุ้มกันของผู้สูงอายุมักจะอ่อนแอลง และร่างกายมักจะมีความสามารถน้อยลงที่จะรับมือกับมลพิษในอากาศ นอกจากนั้น ผู้สูงอายุยังมีแนวโน้มมากขึ้นที่จะมีอาการเกี่ยวกับโรคหัวใจหรือระบบทางเดินหายใจที่ยังไม่ได้รับการวินิจฉัยซึ่งกำเริบขึ้นเนื่องจากมลพิษในอากาศ
  • ผู้ที่เป็นโรคปอดหรือโรคหัวใจ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ ภาวะหัวใจล้มเหลว โรคหอบหืด โรคถุงลมในปอดโป่งพอง โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง มีความเสี่ยงมากขึ้นเนื่องจากอนุภาคฝุ่นละอองสามารถทำให้สภาวะโรคที่มีอยู่ก่อนหน้านี้กำเริบขึ้นได้