fbpx

ป้องกันแผลกดทับ ฉบับคนขี้เกียจ

ป้องกันแผลกดทับ ฉบับคนขี้เกียจ

ปัญหาแผลกดทับของผู้ป่วย ถือเป็นปัญหาที่ผู้ดูแลคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีและก็สร้างปัญหากวนใจไม่น้อยเลย บางท่านอาจเข้าใจว่าการป้องกันแผลกดทับนั้นต้องพลิกตัวบ่อยๆ และต้องคอยเฝ้าผู้ป่วยตลอดเวลา แต่ความจริงแล้ว เราไม่จำเป็นทำบ่อยหรือถี่ขนาดนั้น วันนี้อีไลฟ์มีเคล็ดลับนาฬิกาพลิกตัว ป้องกันแผลกดทับมาฝากค่ะ

สาเหตุของแผลกดทับ

เป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยที่มีข้อจำกัดในการเคลื่อนไหว และการเกิดแผลกดทับนั้น เสี่ยงต่อการติดเชื้อและอาจเป็นอันตรายร้ายแรงได้ ดังนั้นเราจึงต้องมีวิธีป้องกันไม่ให้แผลกดทับเกิดขึ้นกับคนที่เรารัก มาดูเคล็ดลับกันฉบับง่ายกันเลย

ตารางนาฬิกาพลิกตัว

6โมงเช้า ตะแคงซ้าย
8 โมงเช้า นอนหงาย
10 โมงเช้า ตะแคงขวา
เที่ยงวัน ตะแคงซ้าย
บ่าย2 นอนหงาย
4โมงเย็น ตะแคงขวา
6 โมงเย็น ตะแคงซ้าย

ส่วนในเวลากลางคืนที่ผู้ป่วยนอน เราควรมีอุปกรณ์เสริมป้องกันอีก1ชั้นคือ ที่นอนลมหรือแผ่นเจลรอง ลดการกดทับปุ่มกระดูก ซึ่งสามารถช่วยได้มาก การป้องกันจึงเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับผู้ป่วย

หากผู้ป่วยนอนหงายนานเกินกว่า 2 ชั่วโมง อาจจะเกิดแผลกดทับที่ก้นกบง่ายขึ้น เพราะเป็นส่วนที่รับน้ำหนักทั้งหมดตามแรงโน้มถ่วงของโลก อีกบริเวณ คือ ส้นเท้าที่จะเกิดได้ง่าย เราต้องใช้หมอนนุ่มรองเท้าทั้งสองข้างเพราะสามารถลดแรงกดบริเวณส้นเท้า และควรใช้หมอนข้างหนุนช่วงใต้เข่าไว้เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยรู้สึกเกร็งที่หลัง เพื่อให้กล้ามเนื้อหลังหย่อนตัวลงและช่วยยกส้นเท้าให้สูงลอยจากพื้น  ซึ่งเป็นการจัดท่านอนสำหรับผู้ป่วยที่นอนในท่านอนหงาย

และเมื่อถึงเวลาประมาณ 2 ชั่วโมงจึงควรเปลี่ยนท่านอนให้ผู้ป่วย แต่การพลิกตะแคงตัวผู้ป่วยต้องดูลักษณะของเตียงด้วย  ถ้าเป็นเตียงแข็งมาก ต้องพลิกตัวบ่อย หรือถ้าน้ำหนักตัวของผู้สูงอายุมากก็ต้องพลิกก่อน 2 ชั่วโมง แต่ถ้าเป็นเตียงนุ่มหรือใช้อุปกรณ์เสริมอื่นๆช่วยเราอาจจะพลิกตัวผู้ป่วยช้ากว่า 2 ชั่วโมงได้

ที่สำคัญต้องสำรวจปุ่มกระดูกต่างๆ  ที่สามารถเกิดแผลกดทับให้ทั่วและดูบริเวณต่าง ๆ ว่ามีรอยแดง  รอยถลอกหรือไม่ในทุกครั้งที่มีการพลิกตะแคงตัวผู้ป่วยด้วย เพราะแผลกดทับเป็นปัญหาสุขภาพที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว หากสังเกตว่าปรากฏสัญญาณของแผลกดทับ ควรขยับร่างกายปรับเปลี่ยนท่าทาง เพื่อบรรเทาแรงกดทับตรงบริเวณดังกล่าว และควรพบแพทย์ทันทีในกรณีที่อาการไม่ดีขึ้นภายใน 24 – 48 ชั่วโมง ส่วนผู้ที่ปรากฏอาการติดเชื้อ เช่น ไข้ขึ้น มีของเหลวซึมมาจากแผล มีกลิ่นผิดปกติที่แผล หรือรอยแดงมากขึ้น อาการอุ่น ๆ และอาการบวมของแผลเพิ่มขึ้น ควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการรักษาทันที

อาการของแผลกดทับ

  • สีหรือลักษณะผิวหนังเกิดความผิดปกติ มีอาการบวม
  • มีหนองออกมา
  • เกิดอาการอุ่นหรือเย็นตรงผิวหนังที่เกิดแผลกดทับ 
  • มักกดแล้วเจ็บบริเวณที่เป็นแผลกดทับ ทั้งนี้ อาการของแผลกดทับจะรุนแรงขึ้นตามระยะต่าง ๆ ดังนี้

ระยะที่ 1 แผลกดทับระยะนี้จะไม่เปิดออก มีลักษณะอุ่น นุ่มหรือแข็ง ผู้ป่วยอาจรู้สึกเจ็บและระคายเคือง ผิวหนังบริเวณแผลจะไม่มีสี ผู้ที่มีผิวขาวอาจเกิดรอยแดง ส่วนผู้ที่มีผิวเข้มอาจเกิดสีเขียวอมม่วง เมื่อกดลงไปบนแผล แผลจะไม่กลายเป็นสีขาว

ระยะที่ 2 แผลกดทับระยะนี้เป็นแผลเปิดหรือมีแผลตุ่มน้ำพอง เนื่องจากหนังกำพร้าบางส่วนและหนังแท้ถูกทำลาย ส่งผลให้ผิวหนังหลุดลอก ผู้ป่วยอาจรู้สึกเจ็บที่แผลมากขึ้น

ระยะที่ 3 แผลจะมีลักษณะเป็นโพรงลึก ซึ่งอาจเห็นไขมันที่แผล เนื่องจากผิวหนังทั้งหมดหลุดออกไป รวมทั้งเนื้อเยื่อที่อยู่ลึกลงไปในชั้นผิวหนังถูกทำลาย

ระยะที่ 4 แผลกดทับระยะนี้ถือว่าร้ายแรงที่สุด โดยผิวหนังทั้งหมดถูกทำลายอย่างรุนแรง รวมทั้งเนื้อเยื่อที่อยู่ล้อมรอบเริ่มตายหรือที่เรียกว่าเนื้อเยื่อตายเฉพาะส่วน (Tissue Necrosis) กล้ามเนื้อและกระดูกที่อยู่ลึกลงไปอาจถูกทำลายด้วย

การรักษาแผลกดทับ

การลดแรงกดทับ วิธีรักษาแผลกดทับขั้นแรกคือลดการกดทับอวัยวะที่เกิดภาวะดังกล่าว เพื่อไม่ให้เกิดแรงกดทับมากขึ้นและลดการเสียดสีของผิวหนัง ซึ่งทำได้ ดังนี้

  • ควรปรับเปลี่ยนหรือขยับร่างกายบ่อย ๆ ผู้ที่นั่งรถเข็นควรขยับร่างกายทุก 15 นาที หรือเปลี่ยนท่านั่งทุกชั่วโมง ส่วนผู้ที่นอนบนเตียงควรเปลี่ยนท่านอนทุก 2 ชั่วโมง
  • ใช้ที่นอนหรือเบาะรองนั่งที่ช่วยหนุนร่างกายให้นั่งหรือนอน โดยไม่ทำให้ผิวหนังดึงรั้งกัน 
  • หากผิวหนังที่เกิดแผลกดทับไม่เปิดออก หรือเป็นแผลปิด ให้ล้างแผลด้วยผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดอ่อน ๆ และเช็ดให้แห้ง ส่วนผู้ที่แผลเปิดออกให้ล้างด้วยน้ำเกลือสำหรับล้างแผลทุกครั้งเมื่อต้องทำแผล
  • พันแผลเพื่อช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น เนื่องจากช่วยให้แผลชุ่มชื้นอยู่เสมอลดการเสียดสีที่ผิวหนัง
  • การรักษาเนื้อเยื่อตาย คือการผ่าตัดเนื้อตาย แพทย์จะทำความสะอาดแผลและตัดเนื้อเยื่อที่ถูกทำลายออกไป
  • ยาปฏิชีวนะ ผู้ป่วยอาจได้รับยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาอาการติดเชื้อและป้องกันไม่ให้เกิดการลุกลาม
  • ครีมหรือขี้ผึ้งสำหรับทารักษา ช่วยให้แผลหายไวขึ้นและป้องกันเนื้อเยื่ออื่นถูกทำลาย

ภาวะแทรกซ้อนจากแผลกดทับ

  • เซลล์เนื้อเยื่ออักเสบ (Cellulitis) ผิวหนังและเนื้อเยื่อเกี่ยวพันเกิดการติดเชื้อ ส่งผลให้แผลอุ่น มีรอยแดง และบวม ผู้ป่วยที่เส้นประสาทถูกทำลายจะไม่รู้สึกเจ็บปวดบริเวณที่เซลล์เนื้อเยื่อเกิดการอักเสบ หากไม่เข้ารับการรักษาเสี่ยงติดเชื้อในกระแสเลือดหรือติดเชื้อที่กระดูกและข้อต่อได้ ทั้งนี้ ผู้ที่เกิดแผลกดทับบริเวณหลังส่วนล่าง กระดูกก้นกบ และกระดูกสันหลัง หากเนื้อเยื่อติดเชื้อมากขึ้น อาจประสบภาวะเยื่อหุ้มสมองอักเสบ
  • ติดเชื้อในกระแสเลือด ผู้ป่วยภูมิคุ้มกันร่างกายอ่อนแอที่มีแผลกดทับติดเชื้อ เสี่ยงติดเชื้อในกระแสเลือดได้สูง ภาวะนี้จะทำลายอวัยวะต่าง ๆ ส่งผลให้ความดันโลหิตต่ำลงมากจนถึงขั้นอันตรายต่อชีวิต โดยผู้ป่วยจะตัวเย็นและอัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้น จำเป็นต้องได้รับการรักษาเร่งด่วน เพื่อให้ร่างกายกลับมาทำงานปกติ รวมทั้งรับยาปฏิชีวนะหรือยาต้านไวรัสเพื่อรักษาอาการติดเชื้อ
  • ติดเชื้อที่กระดูกและข้อต่อ แผลกดทับที่ติดเชื้ออาจลุกลามลงไปที่ข้อต่อหรือกระดูก เรียกว่าภาวะข้ออักเสบติดเชื้อและภาวะกระดูกอักเสบ โดยภาวะข้ออักเสบติดเชื้อจะทำลายกระดูกอ่อนและเนื้อเยื่อ ส่วนภาวะกระดูกอักเสบจะทำให้การทำงานของข้อต่อและแขนขาลดน้อยลง ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ หรือเข้ารับการผ่าตัดนำกระดูกหรือข้อต่อที่ติดเชื้อออกไปในกรณีที่เกิดการติดเชื้อรุนแรง
  • เนื้อเน่า (Necrotising Fasciitis) โรคนี้เรียกอีกอย่างว่าโรคแบคทีเรียกินเนื้อคน จัดเป็นภาวะติดเชื้อผิวหนังที่รุนแรง ติดเชื้อลึกถึงระดับเนื้อเยื่อหุ้มกล้ามเนื้อ ทำให้เนื้อเยื่อตายอย่างรวดเร็ว โดยภาวะนี้จะเกิดขึ้นเมื่อแผลกดทับเกิดการติดเชื้อจากแบคทีเรียบางชนิด เช่น เชื้อสเตรปโตค็อกคัส กลุ่มเอ (Group A Streptococci) ผู้ป่วยที่เกิดเนื้อเน่าจำเป็นต้องได้รับการรักษาเร่งด่วน โดยรับยาปฏิชีวนะควบคู่กับการผ่าตัดนำเนื้อเยื่อที่ตายออกไป
  • เนื้อเน่าแบบมีก๊าซ (Gas Gangrene) โรคนี้คือการติดเชื้อรุนแรงที่พบได้ไม่บ่อยนัก โดยจะเกิดการติดเชื้อจากแบคทีเรียคลอสตริเดียม (Clostridium) ซึ่งอยู่ในที่ที่มีออกซิเจนน้อยมาก แบคทีเรียชนิดนี้จะผลิตก๊าซและปล่อยสารพิษออกมา ส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดอาการบวมและเจ็บแผลอย่างรุนแรง ผู้ที่เกิดหนังเน่าจำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัดนำหนังส่วนที่เน่าออกไป ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่เกิดอาการรุนแรงมากจำเป็นต้องตัดอวัยวะส่วนที่เกิดภาวะดังกล่าว เพื่อป้องกันการลุกลามไปยังอวัยวะส่วนอื่น
  • มะเร็งบางอย่าง ผู้ป่วยแผลกดทับที่ไม่ได้เข้ารับการรักษาเป็นเวลานาน อาจเกิดมะเร็งผิวหนังได้

ข้อมูลดีๆจาก : https://www.bpksamutprakan.com/