fbpx

กำจัด”ตะคริว”ตัวร้าย…ให้ห่างไกลผู้สูงอายุ

กำจัด”ตะคริว”ตัวร้าย…ให้ห่างไกลผู้สูงอายุ

โดยทั่วไปตะคริวมักเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุในเวลากลางคืน สร้างความเจ็บปวดทรมานไม่น้อยเลย ถึงไม่อันตรายถึงชึวิต แต่อาจสร้างอุบัติเหตุเกิดขึ้นได้เช่นกัน อีไลฟ์จะพาทุกคนมารู้จักเจ้า “ตะคริว” ว่ามีสาเหตุเกิกขึ้นจากอะไรพร้อมวิธีการรักษาและบรรเทาอาการเจ็บ…ไปดูกันเลย

ก่อนอื่นมาทำความรู้จักตะคริวกันก่อน ? ตะคริว (Muscle cramps) หมายถึง อาการเกร็งตัวหรือหดเกร็งของกล้ามเนื้อทำให้มีอาการปวดและเป็นก้อนแข็ง อาการนี้จะเกิดขึ้นอย่างฉับพลันโดยที่ไม่สามารถบังคับได้ ร่วมกับมีอาการปวดหรือเจ็บกล้ามเนื้อมัดที่เกิดการหดเกร็ง แต่จะเป็นอยู่เพียงชั่วขณะแล้วอาการจะทุเลาลงไปเอง โดยทั่วไปมักเป็นในระยะเวลาสั้นๆ ไม่เกิน 2 นาที แต่ในบางรายก็เป็นนานกว่านั้น รวมถึงอาจเป็นบ่อยจนทำให้เกิดความทรมานได้

สาเหตุและสิ่งกระตุ้นที่ทำให้ผู้สูงอายุเป็นตะคริว

  • จากการศึกษาเชื่อว่าอาจเกิดจากการที่เอ็นและกล้ามเนื้อไม่ได้มีการยืดตัวบ่อย ๆ จึงทำให้มีการหดรั้งหรือเกร็งได้ง่ายเมื่อมีการใช้กล้ามเนื้อส่วนนั้นมากเกินไป นอกจากนั้นยังเชื่อว่าอาจเกิดจากเซลล์ประสาทและเส้นประสาทที่ควบคุมการหดและคลายตัวของกล้ามเนื้อทำงานผิดปกติไป หรืออาจเกิดจากการไหลเวียนของเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อไม่ดี เป็นต้น       

สาเหตุ ทางการแพทย์ยังไม่สามารถระบุสาเหตุได้อย่างแน่ชัด แต่พบว่ามีปัจจัยหลายด้านที่ส่งผลต่อการเกิดตะคริว ได้แก่

  • ปัจจัยที่มาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต เนื่องจากกล้ามเนื้อไม่ได้ยืดเหยียด และอยู่ในท่าเดิมเป็นเวลานานๆ หรือเป็นคนที่ออกกำลังกายอย่างหนัก ใช้กล้ามเนื้อรุนแรงก็อาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดตะคริวได้เช่นกัน เพราะเลือดไม่สามารถไหลเวียนไปเลี้ยงขาขาได้สะดวก
  • ปัจจัยด้านยา มียาบางชนิด เช่น ยาขับปัสสาวะ (Diuretic drugs), ยาลดไขมัน (Nicotinic acid), ไนเฟดิพีน (Nifedipine – ยาลดความดัน), ซาลบูทามอล (Salbutamol – ยาขยายหลอดลม), ไซเมทิดีน (Cimetidine – ยารักษาโรคกระเพาะ), เพนิซิลลามีน (Penicillamine), ฟีโนไทอาซีน (Phenothiazine), ราโลซิฟีน (Raloxifene), มอร์ฟีน, สเตียรอยด์ ฯลฯ
  • ปัจจัยเกี่ยวกับโรคทางกาย ตะคริวเป็นสัญญาณถึงโรคทางกายบางชนิด เช่นโรคเบาหวาน โรคไตวาย โรคของต่อมไทรอยด์ ฯลฯ
  • ปัจจัยเกี่ยวกับการรับของเหลวเข้าร่างกาย การดื่มน้ำน้อย ทำให้เซลล์กล้ามเนื้อขาดน้ำ (มักเป็นในผู้สูงอายุ) การดื่มแอลกอฮอล์ เพราะแอลกอฮอล์ส่งผลให้มีการเพิ่มการขับน้ำทางปัสสาวะ ร่างกายจึงมักขาดน้ำรวมทั้งกล้ามเนื้อด้วย
  • ปัจจัยเกี่ยวกับอายุ อายุที่มากขึ้น ทำให้เซลล์ทุกชนิดในร่างกายเสื่อมถอยลง เป็นต้น
  • ภาวะหลอดเลือดแดงส่วนปลายแข็ง หรือหลอดเลือดตีบตัน จึงส่งผลให้การไหลเวียนของเลือดไม่ดี กล้ามเนื้อจึงขาดเลือด โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ผู้สูบบุหรี่จัด อาจเป็นตะคริวที่ขาได้บ่อยในขณะที่ออกกำลัง เดินเป็นเวลานาน ๆ หรือเดินเป็นระยะทางไกล ๆ หรือเป็นในขณะที่อากาศเย็นตอนดึกหรือเช้ามืดเนื่องจากการไหลเวียนของเลือดไปที่ขาไม่ดี
  • ตะคริวที่พบร่วมกับโรคเรื้อรังหรือภาวะอื่น ๆ เช่น โรคพาร์กินสัน, โรคโลหิตจาง, โรคเบาหวาน (ทำให้เกิดความผิดปกติในการใช้พลังงานของร่างกาย), ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ, โรคของต่อมไทรอยด์ ภาวะขาดไทรอยด์ ภาวะขาดพาราไทรอยด์ (เกิดความผิดปกติทางฮอร์โมน และรวมไปถึงการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดซึ่งเป็นยาฮอร์โมน), โรคตับและโรคไต ตับแข็ง ไตวาย (เพราะตับและไตมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับสมดุลของน้ำและเกลือแร่ของร่างกาย) เป็นต้น

วิธีรับมือง่ายๆเมื่อเป็นตะคริว

  • หยุดเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อส่วนนั้นทันที
  • พยายามยืดกล้ามเนื้อเช่นหากเกิดตะคริวที่น่องให้ค่อยๆเหยียดขาออกช้า หักข้อเท้าขึ้นลงเบาๆแต่ห้ามกระตุกหรือกระชากแรงๆ อย่างรวดเร็ว เพราะจะทำให้เจ็บปวดและกล้ามเนื้ออาจฉีกขาดได้
  • ใช้มือนวดบริเวณที่เป็นก้อนตะคริวเบาๆ
  • ใช้น้ำอุ่นประคบ
  • หากหลังเป็นตะคริวยังมีอาการเจ็บให้ทานยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล
  • หากเกิดบ่อยครั้งจนผิดปกติควรปรึกษาแพทย์

ในรายที่เป็นตะคริวบ่อย ๆ เป็นตะคริวแบบเป็น ๆ หาย ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะเป็นในขณะที่เดินเป็นเวลานาน ๆ หรือในขณะนอนหลับ ควรไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลเพื่อตรวจหาสาเหตุและรับการรักษาไปตามสาเหตุ เพราะอาการตะคริวอาจพบร่วมกับโรคหรือภาวะอื่น ๆ ได้ เช่น โรคพาร์กินสัน โรคเบาหวาน ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ โรคโลหิตจาง โรคของต่อมไทรอยด์ โรคตับและไต ฯลฯ ส่วนในรายเป็นตะคริวแล้วมีอาการปวดมาก (อาการไม่ดีขึ้นหลังจากดูแลตนเองหรือหลังจากตะคริวหายไป) อาการตะคริวไม่ดีขึ้นหรือไม่หายไปหลังจากดูแลตนเองเป็นเวลานานเกินกว่า 30 นาที หรือเมื่อมีความกังวลในอาการ ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุเช่นกัน

วิธีป้องตะคริวแบบเห็นผล

  • ฝึกยืดเหยียดกล้ามเนื้อ (Stretching) ในบริเวณที่มักเป็นตะคริวอยู่บ่อย ๆ อาจช่วยลดโอกาสการเกิดตะคริวได้ เพราะตะคริวมักเกิดกับกล้ามเนื้อน่องและต้นขา ซึ่งสามารถฝึกทำได้โดยปรึกษาแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู แพทย์ออร์โทปิดิกส์ (Orthopaedics) หรือนักกายภาพบำบัด ทั้งนี้การฝึกยืดกล้ามเนื้อควรทำอย่างน้อยวันละ 1-3 ครั้ง ครั้งละประมาณ 3-5 นาที และในครั้งสุดท้ายของวันควรทำก่อนเข้านอน เพื่อช่วยลดโอกาสเป็นตะคริวในตอนกลางคืน แต่ก่อนทำการยืดกล้ามเนื้อควรทำการอบอุ่นร่างกายทุกครั้งด้วยการเดินเบา ๆ ประมาณ 5 นาที และเมื่ออาการตะคริวห่างหายไปแล้ว ก็สามารถลดการทำเหลือเพียงวันละ 1 ครั้งก่อนเข้านอนก็ได้
  • ดื่มน้ำให้เพียงพอ
  • ผู้สูงอายุหลีกเลี่ยงการนอนในที่หนาวเย็นเกินไป ควรใส่ถุงเท้าห่มให้ความอบอุ่นที่พอดี
  • ไม่นั่งหรือนอนอยู่ในถ้าเดิมเป็นเวลานาน
  • ผู้สูงอายุไม่ควรนอนในลักษณะที่เท้าทิ่มลงพื้นแต่ควรใช้หมอนรองใต้เข่าเพื่อให้ข่าสูงขึ้นจากเตียงประมาณ 10 ซม.หรือ 4 นิ้ว (หากมีเตียงปรับไฟฟ้าให้ปรับชันเข่าขึ้น)
  • รับประทานผักและผลไม้ให้มาก เพราะมีวิตามินและเกลือแร่ที่ช่วยในการทำงานของกล้ามเนื้อ เช่น โพแทสเซียม แมกนีเซียม วิตามินบี วิตามินอี
  • พักผ่อนให้เพียงพอ