fbpx

เบาหวานขณะตั้งครรภ์ ภัยอันตราย คุณแม่ควรระวัง !!

เบาหวานขณะตั้งครรภ์ ภัยอันตราย คุณแม่ควรระวัง !!

สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ คงไม่มีอะไรดีไปกว่าการที่ได้เห็นลูกน้อย สามารถลืมตาดูโลกได้อย่างสมบูรณ์แข็งแรง แต่เนื่องด้วยสภาพร่างกายและฮอร์โมนต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป จึงทำให้เสี่ยงที่จะเกิดโรคร้ายได้ง่าย โดยเฉพาะโรค เบาหวานขณะตั้งครรภ์ บทความนี้อยากจะชวนว่าที่คุณแม่ทุกคน มาทำความรู้จักกับภัยร้ายนี้ ว่ามีสาเหตุมาจากอะไร? หากเป็นแล้วอันตรายต่อลูกไหม? จะรักษาหรือดูแลตนเองได้อย่างไรบ้าง ในบทความนี้เลยค่ะ

เบาหวานขณะตั้งครรภ์ เกิดจากอะไร? จะส่งผลกระทบต่อแม่และเด็กอย่างไรบ้าง?

   โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ (Gestational Diabetes Mellitus : GDM) เกิดจากการที่รกในครรภ์ (อวัยวะหนึ่งที่ห่อหุ้มเด็ก) สร้างฮอร์โมนบางชนิดขึ้นมา ซึ่งฮอร์โมนตัวนี้มีฤทธิ์ต่อต้านอินซูลิน ที่ทำหน้าที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น จนเกิดเป็นโรคเบาหวาน ซึ่งหากปล่อยไว้จะเกิดอันตรายต่อแม่และเด็กในครรภ์ได้ ดังนี้

เบาหวานขณะตั้งครรภ์ คนท้องเป็นเบาหวาน
จากการสำรวจของสมาพันธ์โรคเบาหวานนานาชาติ พบว่าในปี ค.ศ.2015 มีผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์กว่า 20 ล้านคน หรือประมาณ 16 เปอร์เซ็นต์ของหญิงตั้งครรภ์ทั้งหมด

ความเสี่ยงต่อแม่ที่ตั้งครรภ์

 

เบาหวานขณะตั้งครรภ์

ความเสี่ยงต่อทารกในครรภ์

  • ตัวโตและน้ำหนักมากผิดปกติ (ไม่แข็งแรง) อาจทำให้บริเวณไหล่ของทารกติดระหว่างคลอด จนอาจเกิดการแตกหักของกระดูก หรือเป็นอันตรายจนเสียชีวิตระหว่างทำคลอดได้
  • มีภาวะตัวเหลือง และมีเลือดข้นเหนียวกว่าปกติ
  • ทารกมีน้ำตาลในเลือดสูงหรือต่ำผิดปกติ
  • สมองและระบบประสาทมีปัญหา พัฒนาได้ช้าผิดปกติ
  • ระบบการหายใจมีปัญหา ไม่สามารถหายใจได้เองเมื่อแรกคลอด
  • มีโอกาสเป็นโรคอ้วนและโรคเบาหวานในอนาคต
  • ทารกอาจพิการ เช่น ไม่มีกะโหลกศีรษะ มีปัญหาเกี่ยวกับกระดูกสันหลัง หัวใจโต
  • เสียชีวิตในครรภ์หรือหลังคลอด

ประเภทของเบาหวานขณะตั้งครรภ์

  1. เบาหวานที่เป็นมาก่อนที่จะตั้งครรภ์ โดยตัวคุณแม่อาจรู้หรือไม่รู้ตัวว่าตนเองเป็นโรคเบาหวานอยู่ เมื่อมีการตั้งครรภ์จะเสี่ยงเกิดอันตรายต่อเด็กมาก เนื่องจากโรคเบาหวานส่งผลกระทบต่อการสร้างอวัยวะของทารก จึงอาจทำให้ทารกพิการ มีผลต่อพัฒนาการและสมอง หรืออาจแท้งได้
  2. เบาหวานที่เพิ่งมาเป็นในขณะกำลังตั้งครรภ์ ซึ่งเบาหวานขณะตั้งครรภ์ชนิดนี้ จะพบหลังการตั้งครรภ์ประมาณ 24 – 28 สัปดาห์ ส่งผลให้ทารกตัวโตผิดปกติ ทำให้คลอดยาก และอาจเกิดการแท้งในช่วงใกล้คลอดได้

ใครบ้างที่มีความเสี่ยงเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์?

  • หญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไป
  • เคยเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์มาก่อน
  • ก่อนตั้งครรภ์ เป็นผู้มีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน หรือมี BMI มากกว่า 30
  • เคยมีประวัติเกี่ยวกับทารกในครรภ์มีปัญหา เช่น ทารกเสียชีวิตในครรภ์โดยไม่ทราบสาเหตุ ทารกพิการโดยกำเนิด ทารกเกิดมามีน้ำหนักตัวมากกว่า 4,000 กรัม เคยแท้งมาก่อน
  • มีความดันโลหิตสูง ก่อนหรือระหว่างตั้งครรภ์
  • พบภาวะตั้งครรภ์แฝดน้ำ
  • คนในครอบครัวสายตรง (พ่อ แม่ พี่ หรือน้อง) มีประวัติเป็นเบาหวาน
  • เป็นโรคถุงน้ำในรังไข่หลายใบ

อาการ เบาหวานขณะตั้งครรภ์ เป็นอย่างไร? หากไปตรวจเบาหวาน ต้องทำอย่างไรบ้าง?

โดยทั่วไปแล้ว หากเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ในช่วงแรกมักจะไม่มีอาการผิดปกติแสดงออกมา แต่ในบางรายก็สามารถสังเกตอาการผิดปกติได้บ้าง โดยอาการเบาหวานขณะตั้งครรภ์ จะคล้ายกับอาการเบาหวานแบบทั่วไปเลยค่ะ

  • ปัสสาวะบ่อยผิดปกติ
  • กระหายน้ำมาก ริมฝีปากแห้ง
  • เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย น้ำหนักลด สายตาพร่ามัว
  • เมื่อมีบาดแผล แล้วแผลหายช้า

จะเห็นได้ว่า อาการเบาหวานขณะตั้งครรภ์จะสังเกตได้น้อยมาก ดังนั้น หากพบว่าตนเองอยู่ในกลุ่มเสี่ยงก็ควรปรึกษาแพทย์และเข้ารับการตรวจคัดกรองเบาหวาน แต่โดยปกติแล้ว หากมีการไปฝากครรภ์และนัดพบแพทย์อยู่ตลอด ส่วนใหญ่แล้วแพทย์จะมีการจัดให้ตรวจคัดกรองโรคและความเสี่ยงต่าง ๆ รวมทั้งโรคเบาหวานอยู่แล้ว

วิธีการวัดน้ำตาลมี 3วิธี ทำเองที่บ้านได้ 2วิธี(CGM, BGM)

วิธีการตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดสำหรับผู้ป่วยเบาหวานนั้นมีวิธี 3วิธีหลักๆ ดังต่อไปนี้

  • HbA1C เป็นแบบเจาะเลือด (ใช้ตย.เลือดเป็นหลอด) อันนี้ส่วนมากจะทำในโรงพยาบาล ทำเองที่บ้านไม่ได้
  • CGM (Contineous Glucose Monitoring) เป็นการวัดระดับน้ำตาลแบบต่อเนื่อง ทำเองที่บ้านได้โดยจะมีเครื่องมือติด Sensor เข้าที่ต้นแขน หรือ หน้าท้อง
  • BGM (Blood Glucose Montioring) เป็นการวัดระดับน้ำตาลในเลือด โดยใช้เข็มเจาะที่ปลายนิ้ว เพื่อเอาตัวอย่างเลือดใช่เพียงแค่ 1หยด

ในขั้นตอนการตรวจเบาหวาน ในครั้งแรกแพทย์จะให้คุณแม่ดื่มสารละลายกลูโคส 50 กรัม หลังจากนั้น 1 ชั่วโมงจะทำการเจาะเลือดเพื่อตรวจค่าระดับน้ำตาล หากพบว่าระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่า 140 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร แสดงว่ามีความเสี่ยงที่จะเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ แพทย์จะมีการนัดตรวจเจาะเลือดอีกครั้ง โดยให้งดน้ำและอาหารอย่างน้อย 8 ชั่วโมง แล้วให้ดื่มสารละลายกลูโคส 100 กรัม เพื่อตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมต่อไป

เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์

หากวินิจฉัยแล้วพบว่าเป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ แพทย์จะมีการนัดเพื่อตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในช่วงใกล้คลอด นอกจากนี้ แพทย์จะมีคำสั่งให้คุณแม่ตั้งครรภ์เฝ้าระวังและควบคุมค่าระดับน้ำตาลในเลือดในแต่ละวันร่วมด้วย โดยการใช้เครื่องตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือด แบบเจาะปลายนิ้วด้วยตนเอง

อย่างไรก็ตาม คุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยง หรือต้องการตรวจสอบค่าระดับน้ำตาลในเลือดของตนเอง เพื่อป้องกันภัยร้ายนี้ไม่ให้เกิดขึ้น ก็สามารถใช้เครื่องตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดหรือเครื่องตรวจเบาหวานนี้ได้เช่นกัน ซึ่งเป็นวิธีที่จะทำให้สามารถตรวจเช็กค่าระดับน้ำตาลในเลือดได้ทุกช่วงเวลา อีกทั้งยังเป็นวิธีที่ทำได้ด้วยด้วยตนเองง่าย ๆ แบบไม่ต้องไปโรงพยาบาล ช่วยให้สามารถวางแผนในการควบคุมค่าระดับน้ำตาล หรือการทานอาหารได้ดียิ่งขึ้น

หากเป็น เบาหวานขณะตั้งครรภ์ จะรักษาให้หายได้ไหม?

หากได้รับการวินิจฉัยว่า เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ แพทย์จะทำการรักษาโดยมีเป้าหมายหลักคือ การควบคุมค่าระดับน้ำตาลในเลือดของคุณแม่ตั้งครรภ์ ให้อยู่ในเกณฑ์ปกติจนกระทั่งคลอด โดยคุณแม่จะต้องควบคุมการทานอาหารควบคู่ไปกับการหมั่นตรวจเช็กค่าระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตนเอง ด้วยเครื่องวัดระดับน้ำตาลในเลือดอยู่เสมอ โดยมีเกณฑ์ดังนี้

ตรวจเบาหวานคนท้อง ตรวจน้ำตาลคนท้อง เบาหวานขณะตั้งครรภ์

  • ก่อนอาหาร : ค่าระดับน้ำตาลต้องน้อยกว่า 95 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
  • หลังอาหาร 1 ชั่วโมง : ค่าระดับน้ำตาลต้องน้อยกว่า น้อยกว่า 140 มิลลิกรัมต่อเดวิลิต
  • หลังอาหาร 2 ชั่วโมง : ค่าระดับน้ำตาลต้องน้อยกว่า 120 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร

อ้างอิงเกณฑ์จาก สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย

หากคุณแม่ที่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ไม่สามารถควบคุมค่าระดับน้ำตาลในเลือดให้เป็นปกติได้ แพทย์จะทำการรักษาด้วยการให้ฉีดอินซูลิน เพื่อควบคุมระดับน้ำตาล ซึ่งอินซูลินที่ฉีดนี้จะไม่เป็นอันตรายต่อลูก โดยให้ฉีดก่อนอาหารทั้ง 3 มื้อและก่อนนอน ควบคู่ไปกับการตรวจเช็กค่าระดับน้ำตาลเองที่บ้าน ทั้งก่อนและหลังอาหาร อย่างน้อย 4 – 7ครั้งต่อวัน เพื่อให้แพทย์สามารถประเมินขนาดอินซูลินได้อย่างถูกต้องมากขึ้น

หากเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ สามารถรักษาให้หายได้ไหม?

สำหรับคุณแม่ที่เพิ่งมาเป็นเบาหวานในขณะตั้งครรภ์ โดยปกติแล้วหลังจากที่คลอดลูก ค่าระดับน้ำตาลในเลือดจะค่อย ๆ ลดลง จนหายเป็นปกติได้ค่ะ แต่ก็มีบางรายที่แม้จะคลอดลูกแล้ว ก็ยังคงเป็นโรคเบาหวานอยู่ อย่างไรก็ตาม แม้โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์จะหายไปแล้ว ก็ต้องมีการเฝ้าระวังค่าระดับน้ำตาล รวมทั้งอาการอันตรายอื่น ๆ ที่อาจจะตามมาได้ต่อไป เช่น การตกเลือดหลังคลอด การติดเชื้อ เป็นต้น

ตรวจน้ำตาลคนท้อง

นอกจากนี้ อ.พญ.วิรดา หรรษาหิรัญวดี สาขาวิชาเวชศาสตร์มารดาและทารกปริกำเนิด ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้กล่าวว่า ผู้ที่เคยเป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์มาก่อน หลังจากนั้น อาจเสี่ยงที่จะกลับมาเป็นโรคเบาหวานได้สูง มากกว่าคนทั่วไปถึง 7 เท่า ดังนั้น แม้จะหยุดตั้งครรภ์แล้ว ก็ยังคงต้องเฝ้าระวังและตรวจเช็กค่าระดับน้ำตาลต่อไปค่ะ

ส่วนในคุณแม่ที่เป็นโรคเบาหวานมาก่อนที่จะตั้งครรภ์นั้น หลังจากคลอดแล้วโรคเบาหวานก็ยังคงอยู่เหมือนเดิม จึงต้องมีการควบคุมค่าระดับน้ำตาลต่อไป โดย อ.พญ.วิรดา หรรษาหิรัญวดี ได้แนะนำว่า คุณแม่กลุ่มนี้ควรให้นมลูกด้วยตนเอง ซึ่งจะช่วยให้คุณแม่ลดน้ำหนักและควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีขึ้น แต่คุณแม่จะต้องทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ โดยลดอาหารประเภทแป้งและน้ำตาลให้น้อยลง (ไม่ถึงขั้นต้องงด) ก็จะทำให้ลูกสามารถได้รับน้ำนมที่มีสารอาหารและวิตามินได้อย่างครบถ้วนค่ะ

How To รับมือ เบาหวานขณะตั้งครรภ์ ให้อยู่หมัด!

หลังจากทราบกันไปแล้วว่า เบาหวานขณะตั้งครรภ์ เป็นภัยร้ายที่แม่ ๆ ทั้งหลายชะล่าใจไม่ได้เลยล่ะค่ะ สำหรับคุณแม่ท่านไหนที่มีความกังวลใจเกี่ยวกับโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ทั้งที่เป็นอยู่แล้วหรือยังไม่เป็น แล้วต้องการที่จะป้องกันไว้ก่อน บทความนี้ก็ได้รวบรวม How To รับมือเบาหวานขณะตั้งครรภ์มาฝากกัน

เบาหวานตั้งครรภ์

1. เมื่อทราบว่าตั้งครรภ์ ควรรีบไปฝากครรภ์ทันที เพื่อให้แพทย์ประเมินและคัดกรองโรคเบาหวานและภัยร้ายอื่น ๆ
2. ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะผู้ที่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์แล้ว ควรได้รับการรักษาจากแพทย์อย่างใกล้ชิด หากพบความผิดปกติ เช่น ท้องไม่โตขึ้น ลูกดิ้นน้อยลงหรือหยุดดิ้น มีอาการครรภ์เป็นพิษ ให้รีบไปพบแพทย์ก่อนถึงเวลานัดทันที
3. ทานอาหารให้ครบ 3 มื้อ โดยเลือกทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ในปริมาณที่เหมาะสม พยายามลดอาหารจำพวกแป้ง น้ำตาล และไขมัน (ไม่ถึงขั้นต้องงด) เน้นเป็นอาหารจำพวกผักและผลไม้ แต่ต้องระวังผลไม้ที่มีรสหวานจัด เช่น มะม่วง ทุเรียน ขนุน
4. หมั่นตรวจเช็กค่าระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตนเองอยู่เสมอ ทั้งในช่วงก่อนและหลังทานอาหารตามที่แพทย์แนะนำ เพื่อที่จะได้ควบคุมและวางแผนการรับมือโรคเบาหวานได้อย่างแม่นยำมากขึ้น
5. สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ที่ต้องฉีดอินซูลิน ควรฉีดให้ครบตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด และก่อนทานยาอะไร ควรปรึกษาแพทย์ก่อน เพราะยาบางตัวอาจทำให้เกิดภาวะดื้อต่ออินซูลินได้ เช่น ยาเพรดนิโซน เป็นต้น
6. ควบคุมน้ำหนักอย่าให้เพิ่มมากเกินไประหว่างตั้งครรภ์ ส่วนผู้ที่วางแผนก่อนมีลูกควรรักษาน้ำหนักตัวอย่าให้เกินเกณฑ์มาตรฐาน
7. ควรออกกำลังกายสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์อย่างสม่ำเสมอ เช่น เดิน ว่ายน้ำ โยคะ โดยห้ามออกกำลังกายจนเหนื่อยเกินไป ควรหยุดทันทีหากรู้สึกว่าจะเป็นลม อย่างไรก็ตาม ควรปรึกษาแพทย์ก่อนว่าตนสามารถออกกำลังกายได้ไหมและเป็นการออกกำลังแบบไหนได้บ้าง
8. หลังคลอด คุณแม่ควรมาพบแพทย์เพื่อตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดและตรวจร่างกาย เพื่อความเสี่ยงภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้นได้
9. แนะนำว่า ควรให้นมลูกด้วยตัวเอง เพื่อช่วยให้คุณแม่สามารถลดน้ำหนักและระดับน้ำตาลได้ดีมากยิ่งขึ้น

ตรวจน้ำตาลในเลือดแบบต่อเนื่อง CGM

สรุป

การตั้งครรภ์ เป็นช่วงเวลาที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะอุบัติเหตุหรือโรคภัยต่าง ๆ โดยเฉพาะโรคยอดฮิตอย่าง เบาหวานขณะตั้งครรภ์ ยิ่งต้องระวังเป็นพิเศษเลยค่ะ เพราะหากชะล่าใจปล่อยไว้ อาจทำให้ได้รับอันตรายถึงชีวิตทั้งแม่และลูกในครรภ์ได้ วิธีรับมือกับเบาหวานขณะตั้งครรภ์ที่ดีที่สุด คือการ หมั่นตรวจเช็กและควบคุมค่าระดับน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ปกติอยู่เสมอ ควบคู่ไปกับการดูแลตนเองตามคำแนะนำข้างต้น ก็จะช่วยลดความเสี่ยงอันตรายต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ค่ะ