fbpx

3 โรคพบบ่อยในผู้สูงอายุและการป้องกัน

ATHLETICS-GERMANY-GUINNESS

คัดย่อจากบทความ ‘ผู้สูงอายุ อยู่อย่างไรไกลโรค‘ เขียนโดย นพ.สมบูรณ์ อินทลาภาพร

โรคหลายโรคในผู้สูงอายุสามารถป้องกันหรือลดความรุนแรงลงได้หากรู้จักวิธีดูแลอย่างถูกต้อง ตัวอย่างโรคที่พบบ่อยมีดังนี้

1. โรคข้อเสื่อม

ข้อเสื่อม

อาการ
  • มีการเปลี่ยนแปลงที่กระดูกอ่อนผิวข้อ โดยถูกทำลายแบบค่อยเป็นค่อยไป
  • จะมีอาการปวดที่ตำแหน่งข้อ มักเป็นหลังจากใช้ข้อมากกว่าปกติ
  • มักบวมที่ข้อไม่มาก ข้ออุ่นกว่าปกติเล็กน้อย เมื่อพักข้ออาการปวดจะลดลงหรือหายไป เมื่อใช้งานก็กลับมาปวดใหม่
  • อาการจะเป็นๆ หายๆ ขึ้นกับการใช้งานข้อ
  • ข้อฝืด เป็นหลังจากพักข้อ หรือหยุดการเคลื่อนไหวข้อเป็นเวลานาน เช่นหลังตื่นนอน อาการข้อฝืดมักไม่เกิน 15 นาที เมื่อขยับข้อสัก 2-3 ครั้งก็ดีขึ้น
การดูแลสุขภาพเพื่อป้องกันหรือลดความรุนแรงของโรคข้อเสื่อม
  • ลดน้ำหนัก หรือควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้อ้วน จะได้ผลดีกับข้อเข่า
  • บริหารกล้ามเนื้อรอบข้อให้แข็งแรงสม่ำเสมอ
  • ใช้ข้ออย่างระมัดระวัง ทะนุถนอม เลี่ยงการเคลื่อนไหวข้อเร็วๆ บิดข้อมากๆ ซ้ำๆ
  • สำหรับข้อเข่า ให้หลีกเลี่ยงการนั่งพับเพียบ ขัดสมาธิ คุกเข่า เพื่อลดแรงกระทำกับข้อ

2. การหกล้ม

คนแก่ล้ม

การหกล้มของผู้สูงอายุและวัยอื่น ทำให้เกิดการบาดเจ็บต่ออวัยวะของร่างกาย เช่น แผลถลอก กระดูกร้าว กระดูกแตก ข้อพลิก เป็นต้น

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ผู้สูงอายุหกล้ม ได้แก่ ปัญหาการได้ยินและการมองเห็น ความจำลดลง ภาวะขาดสารอาหาร โรคทางสมอง โรคข้อ และการใช้ยาที่ไม่เหมาะสม เป็นต้น

เราจะป้องกันการหกล้มได้อย่างไร
  •  ส่งเสริมสุขภาพ เช่น การออกกำลังกายเพื่อให้กล้ามเนื้อแข็งแรง การฝึกเดินที่ถูกต้อง มีโภชนาการที่ดี หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่ไม่จำเป็นหรือมากเกินไป ใช้อุปกรณ์ช่วยเดิน ปรับพฤติกรรมส่วนตัว (เช่น ค่อยๆ ลุกขึ้นยืน มองหาวัสดุรอบตัวที่สามารถยึดจับได้)
  • ปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อม เช่น ใช้วัสดุกันลื่นในห้องน้ำ ทางเดินมีราวจับตลอด ไม่เดินไปบริเวณที่เสี่ยงต่อการหกล้ม ไม่วางของระเกะระกะ หลีกเลี่ยงการเลี้ยงสุนัขในบ้าน มีแสงสว่างเพียงพอบริเวณทางเดิน เตียงนอน เก้าอี้ โถส้วม มีความสูงพอเหมาะ คือไม่เตี้ยหรือสูงเกินไป

3. ภาวะสมองเสื่อม

หลังอายุ 60 ปีความชุกของภาวะสมองเสื่อมจะเพิ่มเป็น 2 เท่าทุก 5 ปี เป็นความผิดปกติในความสามารถของสมอง เช่น ความจำ ความคิด การตัดสินใจ การคำนวณ การรับรู้ทิศทาง การใช้ภาษา ที่แสดงออกมามากกว่าในวัยเดียวกัน หรือมากกว่าการหลงลืมตามวัย ซึ่งจะมีผลกระทบกับการดำเนินชีวิตประจำวัน การทำงาน หรือการเข้าสังคม มีการเปลี่ยนแปลงของบุคลิกภาพและพฤติกรรมได้ โรคที่พบบ่อยได้แก่ โรคอัลไซเมอร์ รองลงมาก็คือโรคหลอดเลือดสมอง

การป้องกันภาวะสมองเสื่อม สามารถปฏิบัติได้ดังนี้

คนแก่ฟังเพลง

  • ป้องกันหรือรักษาโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดให้อยู่ในระดับปกติ
  • พยายามทำกิจกรรมที่มีการกระตุ้นให้มีการใช้งานสมอง โดยผ่านทางประสาทสัมผัสต่างๆ ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ โดยใช้สมองทุกส่วน เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ มีการคิด แก้ไขปัญหา วางแผน การตัดสินใจ เช่น เข้าชมรมผู้สูงอายุ เรียนหนังสือ เล่นดนตรี ร้องเพลง ท่องเที่ยว ทำงานหลังเกษียณ
  • หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมที่ขาดการใช้ทักษะ เช่น นั่งเฉยๆ นอนทั้งวัน ดูโทรทัศน์อย่างเดียว ไม่ยอมเข้าสังคม
  • ทำจิตใจให้สดใสร่าเริง พบว่าความเครียดและ อารมณ์ซึมเศร้าจะมีผลต่อสติ ความจำ ทำให้เสี่ยงต่อภาวะสมองเสื่อม
  • งดสูบบุหรี่ และเครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ

เมื่อรู้แล้วว่าโรคร้ายเหล่านี้สามารถป้องกันและลดทอนให้เบาได้ อย่าลืมดูแลสุขภาพของตัวคุณเองและคนใกล้ชิดให้ดีนะคะ  😛

คนแก่จูงมือ


[suffusion-widgets id=’6′]